10
Apr
SAT คาดปีนี้รายได้โต 20-25% ฟื้นตัวตามอุตฯรถยนต์หลังเห็นสัญญาณดีตั้งแต่ Q1/64
นางสาวนพมาศ ปานทอง ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) เปิดเผยว่า บริษัทคาดรายได้ปีนี้จะเติบโต 20-25% ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมองว่าผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/63 ขณะที่ตัวเลขการผลิตรถยนต์ในเดือน ม.ค.-ก.พ.64 มีแนวโน้มดีกว่าคาดการณ์ไว้ จึงประเมินว่าการผลิตรถยนต์ของไทยปีนี้จะอยู่ที่ 1.5-1.55 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 1.43 ล้านคัน นอกจากนี้อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรก็คาดว่าการผลิตในปีนี้จะกลับไปเทียบเท่าปี 62 ที่ 83,000 คันหากไม่เจอปัจจัยภัยแล้ง
ทั้งนี้ จากตัวเลขการผลิตรถยนต์ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาที่ดีกว่าคาด ส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของ SAT ทำได้ใกล้เคียงกับไตรมาสแรกของช่วงเดียวในปีก่อนไปแล้ว ดังนั้น ภาพรวมทั้งไตรมาส 1/64 ก็คาดว่าจะเติบโตดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยังได้รับคำสั่งซื้อเพลาท้าย (Axle Shaft) เข้ามาต่อเนื่องอีกจำนวน 250 ล้านบาท
นอกจากนั้น ยังมีคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มเติมอีก คือเพลาท้าย (Axle Shaft) ของรถกระบะสันดาปภายใน คิดเป็นมูลค่ายอดขายต่อปีที่ 270 ล้านบาท คาดจะทยอยส่งให้ลูกค้าได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/65 และผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ เพลาขับสำหรับรถกระบะ คิดเป็นมูลค่ายอดขายต่อปี 100-120 ล้านบาท คาดว่าจะทยอยส่งมอบได้ในไตรมาส 2/65 เช่นกัน
แม้ว่าเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน แต่ทางบริษัทมองว่าความต้องการเพลาท้าย (Axle Shaft) ของรถกระบะสันดาปภายในจะยังคงมีอยู่ถึง 10 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามทางบริษัทได้เตรียมทำการวิจัยและการพัฒนา (R&D) วัสดุและการออกแบบดีไซน์ เพื่อพัฒนาให้สอดรับกับผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ EV ในอนาคต ขณะเดียวกันยังได้มีการศึกษาเทรนด์ของเครื่องจักรกลเกษตรเพื่อต่อยอดให้กับทางบริษัทผู้รับจ้างผลิต (OEM) และผู้ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมมากขึ้น
ส่วนเรื่องการควบรวมกิจการ (M&A) บริษัทฯ ยังคงรอดูสถานการณ์ และมีการศึกษาโครงการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามปีนี้บริษัทวางงบลงทุนปกติไว้ที่ 300-400 ล้านบาท
ด้านบริษัทร่วมทุน บริษัท สมบูรณ์ เซี่ยซัน เทค จำกัด (Somboon Siasun Tech Co.,Ltd) เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการ System Integration ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 50% จะสามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้ในปีนี้ หลังจากปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโควิด-19